2554-03-25

บทความดีๆ มาฝาก: เตรียมตัวต้อนรับนักธุรกิจญี่ปุ่น

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิครั้งที่แล้วที่ญี่ปุ่น ทำให้ทั่วโลกต่างหาวิธีป้องกัน และเตรียมตัวรับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนกลายเป็นเทรนด์ไปโดยปริยาย

และล่าสุดเมื่อคืน ที่พม่าก็เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวราวๆ 7 ริกเตอร์ แถมยังกระเทือนมายังเชียงราย-เชียงใหม่ ไล่มายังกรุงเทพฯ เพียงเล็กน้อย (อยู่ตึกสูงรับรู้ได้) ก็ถือเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ทำให้บ้านเราต้องปรับตัว ป้องกัน มีวินัยและสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอาไว้มากๆ นะครับ เลยถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้นำบทความน่ารู้ของ คุณนงค์นาถ ห่านวิไล(nongnat@nationgroup.com - หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 25/3/2011) มาให้อ่านกันครับ ซึ่งหัวข้อจะออกเป็นแนวๆ Business แต่หลังจากได้อ่านแล้ว มันมีอะไรที่ลึกซึ้งมากๆ ครับ ที่เราควรเอาเยี่ยงอย่าง เริ่มต้นที่จะทำยังไม่สายครับ เพราะมันถึงเวลาที่ควรจะเริ่มได้แล้วครับ เอ้า ! มาดูบทความเลยกันดีกว่าครับ

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่น เป็นโศกนาฏกรรมช็อกโลก ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เมืองเซนไดและมณฑลอิวาเตะ แต่คลื่นสึนามิกระทบชายฝั่งญี่ปุ่นทั้งหมด และสิ่งที่มากระหน่ำซ้ำเติมคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเมืองฟูกูชิมาระเบิด ซึ่งส่งผลความเสียหายในวงกว้างกว่าที่คาดคิด

แต่เชื่อแน่ว่า วินัย และความเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นสองจุดเด่นที่คาดว่าจะทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวเร็ว

ญี่ปุ่นเป็นชาติตัวอย่างโลก ดูจากหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 ที่ใช้เวลาไม่เกิน 50 ปีมุ่งมั่นพัฒนาประเทศจนกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจของโลก และเป็นชาติเดียวที่เป็นเจ้าหนี้สหรัฐอเมริกา

ในช่วงปี 1950 ญี่ปุ่นเคยเลียนแบบสินค้าสหรัฐอเมริกามาก่อน แต่ในเรื่องคุณภาพก็โดนต่อว่าในเรื่องความคงทนและเสียง่าย แต่ญี่ปุ่นก็มีความมุมานะในแบบ "หนักเอาเบาสู้" และความเป็นเจ้าระเบียบ และคนมีวินัย ทำให้พัฒนาเร็ว

พงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ นักเรียนเก่าจากญี่ปุ่น ปัจจุบันเขาคือ ผู้จัดการทั่วไปส่วนบริหารธุรกิจ บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด วิเคราะห์ผลกระทบและอนาคตของญี่ปุ่นหลังจากนี้ว่า เชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะฟื้นตัวได้เร็ว จากสิ่งที่เรียนรู้ได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

"เราเพิ่งพาพนักงาน 15 คนกลับจากเมืองไซตามะ ซึ่งลำบากมาก ต้องนั่งรถธรรมดาจากไซตามะไปที่เมืองฮาเนดะ เพื่อต่อเครื่องบินไปทีตอนใต้ของเมืองฟูกูโอกะ แล้วจึงขึ้นเครื่องบินกลับมาประเทศไทย แต่ปรากฎว่าสิ่งที่ทำให้พนักงานทุกคนประทับใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่คือ ภาพของคนญี่ปุ่นนับพันยืนต่อคิว เพื่อซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างมีวินัย และถ้าเห็นเด็ก สตรี คนชรามาเข้าคิว ผู้ชายที่แข็งแรงกว่าก็จะให้เด็กับคนแก่ก่อน ทั้งที่พวกเขาทุกข์สุดๆ หิวสุดๆ

พงษ์เดช ยังมองว่า ความแข็งแกร่ง ความมีวินัย และการเสียสละเพื่อส่วนรวมของคนญี่ปุ่น จะทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้ได้เร็ว ส่วนหนึ่งเพราะ เศรษฐกิจฐานรากของประเทศก็ยังดีอยู่ แม้หนี้สาธารณะจะสูงมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก แต่การเป็นหนี้ของญี่ปุ่นนั้นเป็นหนี้ในประเทศ และแบรนด์ญี่ปุ่นติดตลาดโลกแล้ว การจะผลิตสินค้าและบริการใดออกมาก็สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศตลอดเวลา

ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องยอมรับว่าส่งผล "กระทบ" แต่ไม่ถึงกับ "กระเทือน" เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ฮอนด้า โตโยต้า ซูซูกิ มิตซูบิชิ ยามาฮ่า แม้จะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ แต่เมื่อเกิดเหตุวิกฤติทุกค่ายก็มานั่งคุยกัน เพื่อหาทางออกและรักษาอุตสาหกรรมที่เป็นหน้าตาของประเทศเอาไว้

นี่คืออีกความโดดเด่นของคนธุรกิจญี่ปุ่น

ผู้บริหารฮอนด้า แนะนำประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทยจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมและลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการย้ายฐานของอุตสาหกรรม เพราะการลงทุนใหม่ของญี่ปุ่น นับจากนี้ไปจะมีต้นทุนสูง และยังมีความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติ ไทยเราในฐานะพันธมิตรที่ดีของญี่ปุ่นต้องเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับโอกาสธุรกิจครั้งใหญ่ ของการย้ายฐานทางธุรกิจ อุตสาหกรรม ในหลายๆ แขนง ที่จะเห็นความเคลื่อนไหวในอีกไม่นาน

สุดท้าย ขออาสาแนะนำ คนไทยให้เรียนรู้บทเรียนในครั้งนี้ เพราะคงไม่มีใครมาถล่มประเทศให้ได้เรียนรู้ คนไทยต้องรู้จักปรับตัวจริงจัง หลังจากพูดกันบนเวทีต่างๆ มามากแล้ว ต้องหันมาลดการทำลายสิ่งแวดล้อม มีความรักชาติ และรักให้ถูกทาง หมดเวลาที่จะมาทะเลาะกัน ควรอาศัยจังหวะแบบนี้มาพัฒนาประเทศซะที


หวังว่าขอให้คนไทยได้รับรู้ เข้าใจ และร่วมปฏิบัติกันนะครับ ^ ^

ไม่มีความคิดเห็น: